COLUMNIST

พลังงานทดแทนในอ้อมแขนของ คสช. "โอกาส-การลงทุน-อนาคต"
POSTED ON -


 

พลังงานทดแทนเมืองไทยผ่านร้อนผ่านหนาวมาร่วม 10 ปี ผ่านรัฐบาลรูปแบบต่างๆ มานับไม่ถ้วน ขึ้นชื่อว่า “พลังงาน” ซึ่งเป็นทั้งโครงสร้างพื้นฐาน ธุรกิจ สัมปทาน และปัจจัยที่ 5 ของมนุษย์ย่อมมีพลังดึงดูดให้ผู้คนสนใจ ขึ้นอยู่กับว่าจะเข้ามาแสวงหาประโยชน์ ช่วยพัฒนา หรือเพิ่มชื่อเสียง ทางด้าน คสช. ก็เช่นกัน เข้ามาพร้อมแนวทางพัฒนาและนโยบายด้านพลังงานและพลังงานทดแทน

 

ท่านทราบหรือไม่ว่า ประเทศไทยมีทรัพยากรมากมายที่ยังมิได้นำมาใช้ประโยชน์และกำลังปล่อยให้เสื่อมสภาพไปตามกาลเวลา โดยที่ทรัพยากรเหล่านี้สะสมมาด้วยงบประมาณจากภาษีของพวกเราเอง นั่นก็คือ ทรัพยากรมนุษย์ที่มีคุณภาพ แต่ไม่มีโอกาสได้แสดงศักยภาพ อาจเนื่องจากไม่สนองนโยบายทางการเมืองหรือขาดโอกาส วันนี้ คสช. (คณะรักษาความสงบแห่งชาติ) เปิดกรุมหาสมบัติ เปิดโอกาสให้นักวิชาการและนักปฏิบัติการคุณภาพคับแก้วหลายหน่วยงานทั้งจากในและนอกกองทัพได้มีโอกาสแสดงพลัง ทำประโยชน์ให้กับประเทศชาติ เป็นพลังงานที่สามารถควบคุมได้ ไม่แตกแถว ชาวพลังงานทดแทนขอเอาใจช่วย

 

กลุ่มอุตสาหกรรมพลังงานทดแทน สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ขอสรุปโอกาสการลงทุนและคาดการณ์แนวโน้มในอนาคตของพลังงานทดแทนในประเทศไทยในยุค คสช. ต่อเนื่องกับ AEC อย่างย่อๆ ภายใต้สมมติฐานว่า (1) Solar Rooftop ต่ำกว่า 1 MW ไม่ต้องขอ รง.4 และใบอนุญาต อ.1 ไม่เป็นปัญหา (2) ผังเมืองทั้งประเทศปรับตามความจำเป็นได้รวดเร็วตามที่ท่านอธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมืองรับปาก (3) การลงทุนนำของเสีย อาทิ การนำขยะมาผลิตพลังงานไม่ต้องผ่าน พ.ร.บ.ร่วมทุน ปี พ.ศ.2556 (4) ยกเลิกคณะกรรมการบริหารมาตรการส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน และ (5) คสช.ยังดูแลอยู่ ดังนี้

 

พลังงานเซลล์แสงอาทิตย์ (Solar cell) ซึ่งเป็นมากกว่าพลังงานทดแทน มากกว่าธุรกิจ มีคุณอนันต์ และอาจมีโทษมหันต์...จริงหรือ? ที่จริงแล้วโซลาร์เซลล์อาจเป็นเครื่องมือหนึ่งที่นักการเงินใช้เล่นเกม ส่วนนักอุตสาหกรรม (อุตส่าห์-หา-กรรม) ตามไม่ทัน สามารถดูได้จากการปิดกิจการของโรงงานผลิตแผงเซลล์แสงอาทิตย์ทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งยักษ์ใหญ่ระดับโลกยังต้องปิดตัวลง เนื่องจากไม่ทันเกม

 

สำหรับประเทศไทยนอกจากจะช่วยให้มีมหาเศรษฐีที่เกิดขึ้นจากความโชคดีและวิสัยทัศน์การขอ PPA ไว้ล่วงหน้าแล้ว โซลาร์เซลล์ยังถูกบริษัทมหาชนนำมาใช้เพิ่มหุ้นในตลาด ด้วยการยอมซื้อโครงการโซลาร์เซลล์แพงๆ (ขาดทุน) มาเพื่อประชาสัมพันธ์ ท่านลองศึกษาอัตรา FIT (Feed in Tariff) ใหม่ที่ประกาศมา ซึ่งผู้เขียนคิดว่าดีพอสมควร ยังพอมีกำไรให้นักเก็งกำไรได้มีรายได้เช่นเคย การลงทุนในพลังงานสะอาดและสร้างกำไรจากราคาหุ้นที่เพิ่มสูงขึ้น ซึ่งคุ้มค่าและรวดเร็วกว่ารอกำไรจากการจำหน่ายไฟฟ้า

 

"พลังงานลม" (Wind) คงจะต้องเริ่มด้วยคำพังเพยของไทยดั้งเดิมว่า “ลมเพ ลมพัด” คือ เอาแน่เอานอนไม่ค่อยได้ สำหรับพลังงานธรรมชาติอย่างพลังงานลม ถึงแม้จะมีการตรวจวัดกันนับปี ก็ยังคลาดเคลื่อนได้ ประเทศไทยมีความเร็วลมเฉลี่ยต่ำประมาณ 4-5 เมตรต่อวินาที ส่วนทางยุโรปความเร็วลมเฉลี่ยประมาณ 7 เมตรต่อวินาที เนื่องจากประเทศไทยมีอุณหภูมิระหว่างกลางวันและกลางคืนแตกต่างกันไม่มากนัก ดังนั้น การลงทุนพลังงานลมในประเทศไทยจึงคืนทุนช้า ถึงแม้จะใช้กังหันลมแบบ Low Speed Wind Turbine แล้วก็ตาม

 

แต่ก็ยังมีนักลงทุนมาขอ PPA ลงทุนกันจนล้น จนเกินปริมาณที่ตั้งไว้ (1,800 MW) ในโอกาสนี้โครงการต่างๆ ที่ค้างท่ออยู่ในหน่วยงานรัฐคงจะทยอยคลอดออกมาให้นักลงทุนแสดงฝีมือกันในไม่ช้า โดยไม่ต้องวิ่งเต้น ส่วนพลังงานลมขนาดเล็กมากๆ คือ 100 - 1,000 kW อาจไม่คุ้มค่าการลงทุนในเชิงพาณิชย์ แต่เหมาะสำหรับใช้เป็น Landmark เชิงสัญลักษณ์ของพลังงานสีเขียว

 

"พลังงานชีวมวล" (Biomass) ได้เวลาที่ภาครัฐต้องตัดสินใจว่าชีวมวลที่เหลือใช้อีก 20 ล้านตันต่อปี จะนำไปใช้ประโยชน์ในเชิงพลังงานอย่างไร? คำถามนี้รอคำตอบมากว่า 4 ปีแล้ว ประเทศไทยมีความได้เปรียบด้านภูมิศาสตร์ของพลังงานชีวมวล แต่เสียเปรียบด้านนโยบาย เนื่องจากที่ผ่านมานโยบายกำหนดโดยนักการเมืองและร่างโดยคนเพียงไม่กี่คน ซึ่งไม่มีการรับฟังความคิดเห็น อย่างไรก็ตาม สำหรับผู้ที่สนใจลงทุนควรจะทำความเข้าใจใน 2 เรื่อง ดังต่อไปนี้

 

(1) ราคาชีวมวลสูงขึ้น โรงไฟฟ้าเก่ากำลังจะอยู่ไม่ได้ ถ้าไม่มีเชื้อเพลิงเอง ส่วนโรงไฟฟ้าใหม่ไม่คุ้มค่าต่อการลงทุน เนื่องจากราคา Feedstock เฉลี่ยต่อตัน จากราคา 500 บาทต่อตัน กระโดดขึ้นไปเคลื่อนไหวอยู่ที่ตันละกว่า 1,000 บาท

 

(2) ประเทศพัฒนาแล้วโหมใช้ชีวมวลเป็นเชื้อเพลิงในโรงไฟฟ้า เพื่อลดมลพิษในรูปแบบของ Biomass Pellet ซึ่งต้องใช้ไม้เป็นวัตถุดิบ และรับซื้อ Biomass Pellet ในราคาสูงมาตลอด 2-3 ปี โดยราคา FOB เฉลี่ยตันละ 150 ดอลลาร์หรัฐฯ ส่งผลให้ราคาชีวมวลในประเทศสูงขึ้นแบบกู่ไม่กลับ รัฐจึงต้องตัดสินใจว่าจะส่งเสริมให้ส่งออกชีวมวลบางส่วน และใช้ภายในประเทศบางส่วน หรืออย่างไร? ซึ่งในโลกของตลาดเสรี ราคาไม่อาจควบคุมได้ ที่เสนอนี้มิได้มีเจตนาให้รัฐกำหนดอัตรารับซื้อไฟฟ้าสูงๆ แข่งกับตลาดโลก เพียงแต่ต้องการให้ภาครัฐกำหนดนโยบายให้ชัดเจน

 

"ก๊าซชีวภาพ" (Biogas) พลังงานทดแทนที่ประเทศไทยเดินนำหน้าในอาเซียนอย่างน่าภาคภูมิใจ ก็คือ Biogas จนมีการส่งออกเทคโนโลยีไปต่างประเทศ ปัญหาอยู่ที่เป้าหมายผลิตพลังงานจากหญ้าเนเปียร์ 3,000 MW โดยขาดการรับฟังความคิดเห็นจากภาคเอกชน งานนี้คงจะเหนื่อยแน่นอน

 

"พลังงานขยะ" (Waste to Energy) นับเป็นลูกเป็ดขี้เหร่ใน 5 พลังงานทดแทนที่ผลิตพลังงานไฟฟ้า เนื่องจากต้องรับความเสี่ยงแทนภาครัฐในทุกๆ ด้าน ด้วยอัตราส่งเสริม (Adder) เพียง 3.50 บาท นักลงทุนจึงหันไปลงทุนพลังงานเซลล์แสงอาทิตย์จนต้องจับฉลากแย่ง PPA (ใบอนุญาต) ซึ่งพลังงานขยะในยุค คสช. กำลังจะมีโรดแมพใหม่ อัตราส่งเสริมกำลังจะปรับปรุง วิกฤตกำลังจะเป็นโอกาส นักลงทุนที่รักษ์สิ่งแวดล้อมเก็บเงินใส่เซฟไว้ก่อน รอมาลงทุนพลังงานขยะกันดีกว่า ช่วยรักษาสิ่งแวดล้อมได้ และพอมีกำไร

 

พลังงานเชิงพาณิชย์ของไทยยังมีอีก 2 พลังงานยิ่งใหญ่ นั่นคือ "เอทานอล" (Ethanol) และ "ไบโอดีเซล" (Biodiesel)  ซึ่งมีผู้ประกอบการน้อยราย แต่มีผู้ใช้ทั่วประเทศ ราคาเอทานอลและไบโอดีเซลส่งผลกระทบทางบวกต่อชาวไร่โดยตรง ถ้ามีโอกาสจะมาเล่าสู่กันฟัง

 

ถ้าจะบอกว่า “พลังงานทดแทน” ใช้โอกาสในยามวิกฤตให้เป็นโอกาสการขยายธุรกิจอาจจะไม่ถูกต้องนัก เนื่องจากธุรกิจพลังงานทดแทนวิกฤตที่สุดในยามที่บ้านเมืองมีแต่ความขัดแย้ง นักลงทุนต่างชาติเบือนหน้าหนี แต่ในยามที่บ้านเมืองปกครองด้วยรัฐบาลทหารกลับมีนักลงทุนเสนอตัวเข้ามาขอลงทุนมากหน้าหลายตา และนี่คือประชาธิปไตยแบบไทยๆ